“วิศวกรสังคม” มรส. ต้นแบบการแก้ไขปัญหาด้วยวิจัย สร้างนวัตกรรมพัฒนาท้องถิ่น
วันที่ 26 ก.พ. 67 ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและเครือข่ายศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับคณะ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ “วิศวกรสังคม” ณ โรงเรียนคีรีรัฐวิทยาคม อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ โดยอาศัยแนวทางกระบวนการ “วิศวกรสังคม” ที่ วช.สนับสนุนให้มีกระบวนการนำวิศวกรสังคมที่ผ่านการบ่มเพาะนำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ให้วิศวกรสังคมร่วมกันพัฒนาโจทย์และการปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วม และมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและเครือข่ายศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของ 10 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1. ตำบลกะเปา อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์เก้าอี้ไม้ 2. ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ยาดมสมุนไพร 3. ตำบลบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ก้านปาล์มจักสาน 4. ตำบลคลองฉนาก อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์กะปิหวาน 5. ตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง 6. ตำบลทุ่งเตา อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์สบู่ฟักข้าว ตำบลทุ่งเตา 7. ตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์สินค้าจากกระจูดบ้านท่าเรือ 8. ตำบลตะปาน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันสมุนไพร คุณแม่พฤกษาเฮิร์บ 9. ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ขนมทองม้วนข้าวหอมไชยา และ10 ตำบลบางชนะ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ถุงผ้ามัดย้อมจากลูกจาก พร้อมการนำเสนอผลการดำเนินงานโดยนักศึกษาในโครงการ ซึ่งคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ได้ร่วมชมนิทรรศการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพ ขยายเครือข่ายและสร้างความสัมพันธ์ในสาขาต่าง ๆ และช่วยให้โครงการวิศวกรสังคมสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ดีขึ้นต่อไป